รับมือภาวะหลังการสูญเสียคนสำคัญ เปลี่ยนความเศร้าเป็นความเข้าใจ

รับมือภาวะหลังการสูญเสียคนสำคัญ เปลี่ยนความเศร้าเป็นความเข้าใจ

หากเราต้องสูญเสียใครสักคนที่เรารักมากไปจากชีวิตนั้น ย่อมตอบไม่ได้เลยว่าความเจ็บปวดที่ตามมาจะมีมากมายเป็นทวีคูณแค่ไหน น้ำตาแห่งความเศร้าโศกเสียใจจะมาไม่ขาดสาย เสียงร้องไห้ที่จะดังระงมไปทั่วทุกหนแห่ง เพราะความรัก ความผูกพันที่มีให้กันนั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพียงเพื่อจะลบและทำใจได้รวดเร็วในไม่กี่วัน แล้วเราต้องทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีคนที่เรารักอยู่เคียงข้างอีกต่อไปแล้ว

เชื่อว่าหลายคนเข้าใจความจริงของชีวิตที่มีเกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นสัจธรรมธรรมดาของโลก แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถทำใจ และรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย จิตแพทย์ อลิซาเบธ คูเบอร์ รอส ได้อธิบายเกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสูญเสียไว้เป็น 5 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะปฏิเสธ เมื่อต้องสูญเสียคนที่รักมากจะเกิดการปฏิเสธไม่สามารถยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ และบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งในระยะนี้จะใช้เวลาไม่นานเป็นเพียงช่วงเวลาระยะสั้นๆ
  2. ระยะโกรธ เมื่อปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้แล้วจะเริ่มมีอารมณ์โกรธ ระบายอารมณ์ใส่คนใกล้ชิด และกล่าวโทษคนรอบข้าง ไปจนถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฟ้าดิน เทวดา ที่เป็นสาเหตุทำให้ต้องสูญเสียคนที่รักไป ซึ่งความโกรธเป็นหนึ่งในการแสดงความเศร้าอีกทางหนึ่ง
  3. ระยะต่อรอง เริ่มแสดงอาการต่อรอง วิงวอนกับสิ่งที่ตัวเองนับถือ อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายด้วยการสวดมนต์ ภาวนา หรือบนบาน เพื่อขอโอกาสให้ตัวเองมีเวลามากกว่านี้ ต่อมาจะเริ่มคิดไปเองว่าถ้าเกิดไม่ทำสิ่งนั้น หรือทำตามสิ่งนี้การสูญเสียก็จะไม่เกิดขึ้น
  4. ระยะซึมเศร้า เมื่อรับรู้แล้วว่าตัวเองไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ต้องอยู่เผชิญหน้ากับความสูญเสีย ทำให้รู้สึกผิดหวัง โดดเดี่ยว และเบื่อหน่าย ไปจนถึงคิดหาทางทำร้ายตัวเอง หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย
  5. ระยะยอมรับ มีความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียลดลง จิตใจเริ่มสงบ ยอมรับและทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ระยะนี้จะทำให้ภาวะซึมเศร้าค่อยๆหายไป และช่วยให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้

แล้วเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องสูญเสียคนที่เรารักมากที่สุดไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

  1. ให้เวลากับการสูญเสีย เราจะเริ่มเรียนรู้ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ต่อจากนี้ได้หลังความเจ็บปวดค่อยๆผ่านไป เหลือไว้แต่ความทรงจำที่ดี อาจจะเป็นเดือน เป็นปี แต่มันจะดีขึ้นถ้าเราให้เวลากับตัวเอง และปล่อยให้เวลานั้นรักษาความรู้สึกที่เหลืออยู่
  2. แสดงความรู้สึกออกมา อย่าพยายามซ่อนความเจ็บปวดและบอกว่าตัวเองเข้มแข็ง อยากร้องก็ร้องให้เต็มที่ และปล่อยให้มันไหลออกมากับความรู้สึกที่ค้างอยู่ หรืออยากจะวิ่งไปไกลๆ กรีดร้องให้สุดเสียงต่อหน้าทะเลก็จงทำมันออกมาเถอะ เราจะได้รับรู้อารมณ์ที่ซ่อนอยู่ข้างใน และฝึกรับมือกับความเจ็บปวดให้ได้ด้วยตัวของเราเอง
  3. กำหนดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน วางแผนชีวิต และจดบันทึกไว้ จะช่วยให้เรามีหลักยึดไม่ล่องลอย พยายามทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ไปเรื่อยๆ จนทำให้เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ
  4. ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม หรือพยายามหาคำตอบทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แต่ให้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันและหาวิธีจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นจะดีกว่า รวมทั้งขอคำแนะนำจากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาก่อน
  5. กลับมาดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายของตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การพักผ่อน ออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้ร่างกายไม่ตึงเครียด และจิตใจได้คลายความกังวลทำให้ชีวิตรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  6. หลังการสูญเสีย เราอาจคาดหวังให้คนที่เรารักรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมาให้เรามองเห็นหรือเข้าฝัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเยียวยาความเศร้าเสียใจได้ดี และทำให้เรามีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
  7. หากไม่สามารถทำใจยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้จริงๆ อาจลางานสักพัก หรือหยุดสิ่งที่ทำอยู่เพื่อให้ตัวเองมีเวลารักษาความรู้สึกนี้ และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในปัจจุบันได้
  8. ทำพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้จิตใจสบายขึ้น นอกจากนี้การได้ใช้เวลาว่างทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เคยผ่านมาร่วมกันก็ช่วยให้ความเศร้าที่มีลดลงได้ และทำให้กลับมาเข้มแข็งได้เร็วขึ้น
  9. ถ้ารู้สึกไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า ร่วมด้วยให้รีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

ในชีวิตจริงเราไม่รู้หรอกว่าคนที่เรารัก หรือคนที่รักเราใครจะไปก่อนกัน นอกจากความรักแล้วเรายังมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และส่วนรวมด้วย เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเลือกทำประกันชีวิต และใช้ทุกเสี้ยวเวลาขณะมีชีวิตอยู่ด้วยความรอบคอบ และไม่ประมาท เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อใครสักคนต้องจากไป อีกคนจะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องแบกรับภาระกับสิ่งที่คนจากไปทิ้งไว้ให้ แต่เริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งกับสิ่งที่คนจากไปฝากไว้ให้

KWI use cookies to ensure that we give you the best experience on our website. By using our website you agree to our use of cookies in accordance with our privacy policy. Read more